แชร์

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด มีการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น หรือปวดชาจากปลายประสาทถูกกดทับ กลุ่มโรคนี้เป็นผลมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ได้แก่ ท่านั่งทำงานในออฟฟิศ การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือติดต่อกัน ทำให้มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการชาร่วมด้วย

สาเหตุ

- กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งจากการถูกใช้งานซ้ำๆ จนเกิดการบาดเจ็บ

- ลักษณะท่านั่งในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น คอยื่น ไหล่ห่อ หลังค่อม หรือนั่งไขว่ห้าง

- ภาวะที่กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน (Muscle Imbalance)

- ลักษณะกิจวัตรประจำวัน เช่น สะพายกระเป๋าข้างใดข้างหนึ่ง ยกของหนักบ่อยครั้ง

- สิ่งเเวดล้อมในการทำงาน ระดับจอคอมพิวเตอร์ ความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ขณะนั่งทำงานไม่เหมาะสม

อาการที่พบได้บ่อย

- ปวดตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ และสะบัก มีอาการปวดเรื้อรังไม่หายขาด

- ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ร้าวลงแขนหรือบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย

- มีอาการชาลงแขน ปลายนิ้ว จากเส้นประสาทถูกกดทับ

- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ จากการใช้งานซ้ำๆ

กลุ่มเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม

พบมากในคนวัยทำงานอายุ 30-40 ปี หรืออาชีพที่ต้องทำงานในลักษณะการเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เช่น กลุ่มพนักงานออฟฟิศ พนักงานขาย พนักงานขับรถ แต่ในปัจจุบันพบมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา ที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน

กลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม

- อาการปวดตึงกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) โดยเฉพาะบริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก

- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (Tendinitis)

- เอ็นกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกอักเสบ (Tennis Elbow)

- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome)

- ปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis)

- นิ้วล็อค (Trigger Finger)

- ปวดหลังจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม (Postural back Pain)

แนวทางการรักษา

- การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวได้ดี สามารถป้องกันการบาดเจ็บของใยกล้ามเนื้อที่จะเกิดขึ้นได้

- การออกกำลังกายแบบเพิ่มความแข็งแรง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้เหมาะสม ส่งเสริมความสมดุลของกล้ามเนื้อและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในระยะยาว

- การรักษาทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดมีการตรวจประเมิณ วิเคราะห์ลักษณะท่าทาง และวางแผนการรักษา รวมถึงทำกายภาพบำบัดด้วยมือ (Manual Therapy) ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ร่วมกับการประคบร้อน (Hot Pack) และใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดต่างๆ ทำให้รักษาได้อย่างถูกต้องและป้องกันอาการรุนแรงได้ เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) คลื่นกระแทก (Shockwave) เป็นต้น สามารถลดอาการปวด เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว เพิ่มการไหลเวียนเลือดมายังบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการเกร็งค้าง และเร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ

- การปรับพฤติกรรม ท่าทางและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 2 ชั่วโมง ลุกขึ้นมา

บริหารหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ปรับท่าทางด้วยการนั่งหลังตรง ไม่ห่อไหล่ คอไม่ยื่น นั่งเก้าอี้มีที่รองรับคอและหลัง มีที่วางแขนและข้อศอกสามารถงอได้พอดี 90-120 องศา คอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตาและมีคีย์บอร์ดแยก ปรับความสูงเก้าอี้ให้พอดีกับเท้าวางบนพื้นระดับ 90 องศา และของบนโต๊ะจัดวางในระยะที่หยิบง่าย

คุณหมอแนะนำ

ติดตามเรา

ห้องแชทสอบถามข้อมูล
2 พฤษภาคม 2567